Sense of "Touch" & Sense of "I"

การนวดสัมผัส และการตระหนักรู้ตัวตน

พญ.กอบกาญจน์ ไพบูลย์ศิลป
 
การกอดคือยาวิเศษที่บำบัดคนทั้งโลก คำกล่าวนี้สะท้อนความเป็นจริงทางจิตวิทยาที่วางบนพื้นฐานของทฤษฎี 12 Senses ทางการแพทย์มนุษยปรัชญา Rudolf Steiner กล่าวอย่างหนักแน่นหลายคราวว่า “เราจะฟื้นฟูระดับศีลธรรมของมนุษยชาติขึ้นมาใหม่ ด้วยการสร้าง Sense of ‘I’ หรือการตระหนักรู้ตัวตนให้ดีตั้งแต่วัยเยาว์เท่านั้น”
 
 
ในบรรดาผัสสะทั้ง 12 ที่มนุษยเรามี เราสามารถแบ่งกลุ่มผัสสะต่างๆ ออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มคือ ผัสสะระดับล่าง (Lower senses),  ผัสสะระดับกลาง (Middle senses), และผัสสะระดับสูง (Higher senses) ระดับของผัสสะเป็นนัยยะบ่งบอกว่า ผัสสะยิ่งชั้นสูงขึ้นไปเท่าใด ก็ยิ่งต้องอาศัยความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในการเข้าถึงมากขึ้นเท่านั้น
 
 

            อย่างไรก็ตาม... แม้ผัสสะระดับสูงสุดของมนุษย์ที่เรียกว่า Sense of “I” หรือความสามารถในการตระหนักรู้ตัวตนหรือความเป็นมนุษย์ของคนอื่นนั้นจะเป็นที่พึงปรารถนาเพียงใด แต่ Sense of “I” จะพัฒนาได้ดีหรือไม่นั้นเป็นผลพวงมาจากทะนุบำรุง Sense of “Touch” หรือผัสสะแห่งการรับรู้สัมผัสในวัยเยาว์ต่างหาก

 

            ขยายความเพื่อความเข้าใจก็คือ หากเราพบเด็กที่มีปัญหาใช้ความรุนแรงกับคนอื่น หรือทำร้ายตัวเองด้วยการกรีดข้อมือ เจาะหู เจาะจมูก สักลายตามตัว (ไม่รวมถึงรายที่เป็นเรื่องของรสนิยม) แต่หากมีการติดการเจาะ การสักมากๆ เกินไป ในมุมมองของการแพทย์มนุษยปรัชญามองว่าที่แท้แล้ว “ความเจ็บปวด” คือการกระตุ้นอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาเหล่านั้นรู้ว่ามีตัวตนอยู่ เพราะเขารู้สึกว่าตัวเขาไร้ค่า หรือขาดคนเหลียวแล จนดูเหมือนตัวตนของตนเองเป็นเพียงอากาศธาตุ ความรู้สึกเจ็บผ่านการการกรีดผิว การเจาะ และการสัก เป็นตัวกระตุ้นชั้นดีให้กลับมารู้สึกว่า “ฉัน” ยังคงมีตัวตนอยู่บนโลกใบนี้

 

            “ความเจ็บปวด” ในมุมมองของมนุษยปรัญาจึงไม่เป็นเพียงการคุกคามต่อการดำรงอยู่ของชีวิตเราเท่านั้น แต่ความเจ็บปวดในระดับที่เหมาะสมเองก็เป็นการกระตุ้นให้เรารู้สึกถึงชีวิตและการดำรงอยู่ของตัวเราอีกด้วย! ยกตัวอย่างเช่นในกระบวนการคลอดตามธรรมชาติ ที่เด็กจะต้องถูกบีบขับออกมาตามทางคลอดของแม่ ความรู้สึกเจ็บและการหายใจเฮือกแรกกระตุ้นให้เด็กตื่นขึ้น เพื่อรับรู้ว่า “ฉัน” ได้เกิดมาดำรงอยู่บนโลกใบนี้แล้วนะ (ทั้งนี้หมอไม่ได้ส่งเสริมให้ลงโทษด้วยการตีเด็ก... ซึ่งจะอธิบายขยายความในโอกาสต่อๆ ไป)

 

            มีงานวิจัยทางการแพทย์ยืนยันว่า การคลอดตามธรรมชาติทำให้เด็กที่เกิดมามีสุขภาพแข็งแรงกว่า ในขณะเดียวกัน ก็พบความสัมพันธ์ทางสถิติบางอย่างที่พบว่า การผ่าคลอดโดยไม่จำเป็นที่มากขึ้นในปัจจุบัน เป็นสัดส่วนเพิ่มขึ้นกับอุบัติการของเด็ก Autism หรือสมาธิไม่จดจ่อ หรือเหม่อลอย ทั้งนี้ในมุมมองของมนุษยปรัชญามองว่า เป็นเพราะเด็กเหล่านี้ไม่ได้ถูกกระตุ้นผ่าน Sense of “Touch” อย่างเพียงพอ จึงไม่ค่อยตื่นตัวเท่าที่ควร

 

            หากเราอยากส่งเสริมการตื่นรู้ของเด็กๆ สิ่งที่พ่อแม่สามารถส่งเสริมได้แต่เล็กแต่น้อยก็คือ สัมผัสและโอบกอดให้มาก ยิ่งถ้าก่อนนอนพ่อหรือแม่มีเวลานวดตัว นวดขา นวดน่องให้เด็กผ่อนคลาย เด็กจะรู้สึกชอบความสบายดังกล่าว ในระยะยาวเมื่อเขารู้สึกดีกับตัวเขาเอง เขาจะรักตัวเอง ไม่ทำร้ายตัวเอง... อัตราการฆ่าตัวตายจะน้อยลงในเด็กกลุ่มที่ถูกกระตุ้น Sense of “Touch” ดังกล่าว

            แต่สิ่งที่ดีสุดๆ ไปกว่านั้นในระยะยาว เมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ การตระหนักรู้ขอบเขตตัวตนของเขา จะขยายไปสู่การรู้ขอบเขตของ “มนุษย์คนอื่น” หรือบุคคลอื่นนั้นไม่ใช่ตัวเรา การไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนอื่นแท้จริงแล้วคือความหมายเดียวกันกับประโยคที่ว่า “นี่คือของๆ ฉัน นั้นคือของๆ เธอ หากมันไม่ใช่ของฉัน ฉันก็ไม่ควรละเมิดของของเธอ” คนเราจะอยู่กันด้วยความเกรงใจมากขึ้น และเห็นแก่ตัวน้อยลง กฎระเบียบเพื่อลงโทษก็จะเป็นความจำเป็นที่น้อยลงโดยลำดับ สังคมมนุษย์ในอุดมคติดังกล่าวจึงสามารถกลับไปเป็นอิสระชนอย่างแท้จริง!!!

 

ประชาสัมพันธ์ สามารถติดตามรายการ 12 Senses Family Mentor ของหมออ้อมได้ทาง Youtube “Venita Clinic” Channal ทุกวันพฤหัสนะคะ